การผลิตเอนแคปซูลสารสกัดจากใบย่านางด้วยวิธีไฮโดรเจลโดยใช้แคลเซียมแอลจิเนต

Titleการผลิตเอนแคปซูลสารสกัดจากใบย่านางด้วยวิธีไฮโดรเจลโดยใช้แคลเซียมแอลจิเนต
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2555
Authorsรัตนา ตีคลี
Degreeวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต -- สาขาวิชาเทคโนโลยีการอาหาร
Institutionคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberTP ร375ก
Keywordsผักพื้นบ้าน--ไทย (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), ย่านาง (พืช), สารสกัดจากพืช, เอนแคปซูลเลชั่น, แคลเซียมแอลจิเนต, ไฮโดรเจล
Abstract

ย่านาง (Tiliacora triandra) จัดเป็นผักและสมุนไพรพื้นบ้านในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย งานวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อกระบวนการผลิตเอนแคปซูลสารสกัดจากใบย่านาง ปัจจัยที่ใช้ศึกษา คือ อัตราส่วนระหว่างสารที่ต้องการกักเก็บต่อสารที่ใช้เคลือบ ความเข้มข้นของแอลจิเนต และความเข้มข้นของแคลเซียมคลอไรด์ มีผลต่อประสิทธิภาพในการผลิตเอนแคปซูล และความคงตัวของสารสกัดออกฤทธิ์ทางชีวภาพ รวมถึงความสามารถในการเก็บรักษาสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพของเอนแคปซูลที่อุณหภูมิแตกต่างกัน นอกจากนี้ยังศึกษาความสามารถในการย่อยของเอนแคปซูลสารสกัดจากใบย่านางในระบบทางเดินอาหารจำลอง โดยเน้นเฉพาะผลจากพีเอชพีคือ ที่กระเพาะอาหาร (พีเอช 1.2) และที่ลำไส้เล็ก (พีเอช 7.4) ที่ 37 องศาเซลเซียส และสุดท้าย คือ การประยุกต์เอนแคปซูลสารสกัดจากใบย่านางในระบบผลิตภัณฑ์อาหาร โดยจำลองผลของพีเอช (พีเอช 2, 3, 4, 5, 6 และ 7) อุณหภูมิและเวลาในการฆ่าเชื้อ (65 องศาเซลเซียส นาน 30 นาที และ 77 องศาเซลเซียส นาน 1 นาที) ต่อสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพในเอนแคปซูลสารสกัดจากใบย่านางในสภาวะจำลองของผลิตภัณฑ์อาหารประเภทเครื่องดื่มพบว่า การผลิตเอนแคปซูลสารสกัดจากใบย่านางที่เหมาะสม คือ อัตราส่วนระหว่างสารที่ต้องการกักเก็บและสารที่ใช้เคลือบคือ 1.60 ต่อ 8.40 ความเข้มข้นของแอลจิเนตร้อยละ 1 ของน้ำหนักต่อปริมาตร และความเข้มข้นของสารละลายแคลเซียมคลอไรด์ร้อยละ 1 ของน้ำหนักต่อปริมาตร ประสิทธิภาพโดยรวมของการผลิตเอนแคปซูลสารสกัดจากใบย่านาง และปริมาณสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพขึ้นอยู่กับอัตราส่วนระหว่างสารสกัดจากใบย่านางต่อความเข้มข้นของแอลจิเนต รวมทั้งเอนแคปซูลสารสกัดจากใบย่านางสามารถเก็บรักษาสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพได้มากกว่า 3 เดือน โดยมีร้อยละการคงเหลือของสารมากกว่าร้อยละ 50 ที่อุณหภูมิ 4-10 องศาเซลเซียส นอกจากนี้ในระบบทางเดินอาหารจำลอง พบว่า เอนแคปซูลสารสกัดจากใบย่านางสามารถดูดซึมที่ลำไส้เล็ก (พีเอช 7.4) ได้ดีกว่าที่กระเพาะอาหาร (พีเอช 1.2) ภายในเวลา 24 ชั่วโมง สำหรับการประยุกต์เอนแคปซูลสารสกัดจากใบย่านางในระบบจำลองของผลิตภัณฑ์อาหาร โดยพบว่าที่พีเอช 4 มีการปลดปล่อยสาระสำคัญมากที่สุด รวมทั้งที่อุณหภูมิ 77 องศาเซลเซียส นาน 1 นาที มีปริมาณสาระสำคัญมากที่สุดเช่นกัน ซึ่งถือได้ว่าเอนแคปซูลสารสกัดจากใบย่านางมีความเป็นไปได้ในการประยุกต์กับผลิตภัณฑ์อาหารประเภทเครื่องดื่ม จากการศึกษาจะเห็นว่ากระบวนการผลิตเอนแคปซูลสารสกัดจากใบย่านางสามารถป้องกันและยืดอายุเก็บรักษาของสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพได้ และยังมีความเป็นไปได้ในการบริโภค และการประยุกต์กับผลิตภัณฑ์อาหาร โดยเฉพาะอาหารเพื่อสุขภาพที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่นิยมในปัจจุบัน

Title Alternate Encapsulation of Yanang leaves (Tiliacora triandra) extracts with calcium alginate hydrogel beads