การผลิตผ้าข้าวม้าลายพิมพ์ กรณีศึกษากลุ่มทอผ้าขาวม้า บ้านนากระแซง ตำบลนากระแซง อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี

Titleการผลิตผ้าข้าวม้าลายพิมพ์ กรณีศึกษากลุ่มทอผ้าขาวม้า บ้านนากระแซง ตำบลนากระแซง อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี
Publication Typeงานวิจัย/Research report
Year of Publication2559
Authorsประกาศิต แก้วรากมุข
Institutionคณะศิลปประยุกต์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberTT852 ป192ก 2559
Keywordsการทอผ้าขาวม้า, การผลิตผ้าขาวม้า, การพิมพ์ลายผ้า, การออกแบบผ้าขาวม้า, ผ้าขาวม้า, ผ้าขาวม้า--การผลิต, ผ้าพิมพ์ลาย, สิ่งทอ, หัตถกรรมสิ่งทอ
Abstract

โครงการวิจัยการผลิตผ้าขาวม้าลายพิมพ์ กรณีศึกษากลุ่มทอผ้าขาวม้า บ้านนากระแซง ตำบลนากระแซง อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาผ้าขาวม้ารูปแบบใหม่ที่มีรูปแบบที่แตกต่างจากเดิม และนำมาออกแบบผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าสำเร็จรูปจากผ้าขาวม้า และเพื่อการส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนเพิ่มรายได้ให้กับกลุ่มทอผ้าขาวม้า โดยีการดำเนินวิจัยโดยการลงพื้นที่สัมภาษณ์ เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ วิเคราะห์เพื่อหากระบวนการที่เหมาะสมในการผลิตผ้าขาวม้าพิมพ์ลาย และประเมินความพึงพอใจของกลุ่มตัวอย่างที่ได้ใช้กระบวนการจากการวิเคราะห์
โดยที่มาของโครงการนี้เกิดจากปัจจุบันในจังหวัดอุบลราชธานี มีการรวมกลุ่มเพื่อผลิตผ้าขาวม้าเป็นสินค้า OTOP อยู่หลากหลายกลุ่มทั่วทั้งจังหวัด เกิดการแข่งขันทางด้านสินค้าและการตลาดระหว่างกลุ่มขึ้นเนื่องจากลวดลายผ้าขาวม้าของแต่ละกลุ่มนั้นมีลวดลายที่คล้ายกัน ไม่มีความแปลกใหม่หรือลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่ม ดังนั้น ผู้วิจัยจึงได้หาแนวทางในการสร้างความแปลกใหม่ให้กับผ้าขาวม้า โดยสำหรับกลุ่มผลิตผ้าขาวม้า บ้านนากระแซง หมู่ 13 ตำบลนากระแซง อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี เป็นกลุ่มผู้ผลิตผ้าขาวม้า เริ่มก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2543 ซึ่งยังมีฐานกลุ่มลูกค้าน้อย ทางกลุ่มจึงได้มีแนวความคิดที่จะขยายฐานกลุ่มลูกค้า ดังนั้น ทางกลุ่มผู้ผลิตจึงต้องการหาแนวทางในการพัฒนาคุณภาพผ้าขาวม้าให้ดีขึ้น มีลวดลายที่มีเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่ม และแตกต่างจากผ้าขาวม้าในรูปแบบเดิม
สำหรับกระบวนการเพื่อให้ผ้าขาวม้ามีความแปลกใหม่และน่าสนใจนั้น ผู้วิจัยได้เลือกกระบวนการพิมพ์ผ้าด้วยแม่พิมพ์ฉลุ (Stencil) ซึ่งเป็นเทคนิคการสร้างสรรค์ผลงานทางศิิลปะพื้นฐานที่มีมาช้านาน โดยการดัดแปลงวัสดุอุปกรณ์ที่อยู่รอบตัวมาสร้างแม่พิมพ์ เพื่อลดต้นทุนในการผลิต และยังสามารถพิมพ์ได้จำนวนมากอีกด้วย
แต่ก่อนที่จะสร้างลวดลายโดยการพิมพ์ลงบนผ้าขาวม้านั้น ต้องมีการปรับปรุงผ้าขาวม้าก่อน โดยคงลักษณะเด่นของผ้าขาวม้าที่มีข้อดีอยู่แล้วไว้ ได้แก่ วัสดุ เนื้อผ้า และขนาดของผ้าขาวม้า ส่วนสิ่งที่ปรับปรุงบยผ้าขาวม้า คือ สีสัน และลวดลาย ซึ่งปรับให้มีความเหมาะสมเพื่อการพิมพ์ลวดลายลงไป
โดยมีการปรับสีให้สอดคล้องไปกับเทรนด์แฟชั่นสากล เพื่อให้ผ้าขาวม้าเป็นที่น่าสนใจสำหรับคนรุ่นใหม่ที่สนใจแฟชั่น รวมถึงปรับสีของผ้าขาวม้าให้อ่อนลง เพื่อการพิมพ์ลวดลายที่ชัดเจนสวยงาม
สำหรับลวดลายของผ้าขาวม้านั้นมีสองลวดลาย คือลายดั้งเดิม หรือที่เรียกว่าลายตาโก้ง ส่วนอีกลายเรียกว่า ลายสก๊อต ได้มีการปรับขนาดของลวดลายของลายตาโก้งให้มีขนาดเล็กลงจากรูปแบบเดิม
ในกระบวนการพิมพ์ลายลงบนผ้าขาวม้านั้น ผู้วิจัยได้วิเคราะห์เทคนิคการพิมพ์ลายอยู่ทั้งหมด 3 เทคนิค คือ เทคนิคแม่พิมพ์แกะไม้ (woodcut) เทคนิคแม่พิมพ์ฉลุ (Stencil) และเทคนิคแม่พิมพ์ตะแกรงไหม (Silk screen) ซึ่งจากการวิเคราะห์นั้นผู้วิจัยได้ใช้เทคนิคแม่พิมพ์ฉลุ (Stencil) มาใช้เป็นกระบวนการพิมพ์ลายบนผ้าขาวม้า เนื่องจากเป็นเทคนิคที่ไม่ซับซ้อนสำหรับผู้ที่ไม่มีทักษะทางการพิมพ์ภาพและใช้วัสดุอุปกรณ์ที่สามารถหาได้ทั่วไป โดยทั้งนี้ผู้วิจัยดัดแปลงวัสดุอุปกรณ์จากสิ่งที่หาได้ในท้องถิ่น และจากการปฏิบัติงานของกลุ่มทอผ้าขาวม้าในกระบวนการพิมพ์ลายบนผ้าขาวม้าโดยเทคนิคแม่พิมพ์ฉลุ (Stencil) นั้น สิ่งสำคัญในการพิมพ์ลายคือความประณีตในการลงสีในการพิมพ์ลาย ต้องมีความระมัดระวังแต่เมื่อผู้พิมพ์ลายมีความชำนาญแล้วจะสามารถทำได้อย่างรวดเร็วและสวยงาม
การแปรรูปผ้าขาวม้านั้นผู้วิจัยได้แปรรูปผ้าขาวม้าลายพิมพ์ให้เป็นผลิตภัณฑ์ตามตวามต้องการของกลุ่มทอผ้าขาวม้า คือ การแปรรูปเป็นเสื้อผ้าวัยรุ่น โดยได้หาข้อมูลและตัวอย่างเสื้อผ้าวัยรุ่น และวิเคราะห์ความเหมาะสมในการนำผ้าขาวม้าลายพิมพ์ไปแปรรูป ซึ่งผ้าขาวม้าลายพิมพ์สามารถนำไปแปรรูปเป็นเสื้อผ้าวัยรุ่นได้ทั้งชายและหญิง
จากการวิจัยสามารถสรุปผลได้ว่า การพิมพ์ผ้าขาวม้าด้วยเทคนิคแม่พิมพ์ฉลุ (Stencil) โดยใช้วัสดุที่สามารถหาได้ง่ายในชุมชนมาสร้างเป็นแม่พิมพ์นั้น สามารถพิมพ์ผ้าขาวม้าได้อย่างสวยงาม และกระบวนการพิมพ์ลายโดยเทคนิคนี้ยังมีความเหมาะสมกับทักษะและเป็นที่พึงพอใจของกลุ่มผู้ผลิต สามารถดำเนินการผลิตต่อไปในอนาคตได้ รวมถึงผ้าขาวม้าลายพิมพ์ ยังสามารถแปรรูปเป็นเสื้อผ้าวัยรุ่นได้อีกด้วย

Title Alternate Pah-kah-mah printed production case study Nakrasang stats enterprise Det Udom Ubon Ratchathani