การพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์โดยใช้การจัดการเรียนรู้แบบปัญหาเป็นฐาน เรื่อง การแปรผัน

Titleการพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์โดยใช้การจัดการเรียนรู้แบบปัญหาเป็นฐาน เรื่อง การแปรผัน
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2558
Authorsลัดดา เลิศศรี
Degreeวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต -- สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ศึกษา
Institutionคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberQA ล239ก 2558
Keywordsการคิดอย่างมีวิจารณญาณ, การจัดการเรียนรู้แบบปัญหาเป็นฐาน, การสอนคณิตศาสตร์, คณิตศาสตร์--การศึกษาและการสอน, ความคิดและการคิด
Abstract

การพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนถือเป็นภารกิจหนึ่งที่สำคัญของเป้าหมายการจัดการศึกษา การออกแบบวิธีการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์และส่งเสริมผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนควบคู่กันไปทั้งรายกลุ่มและรายบุคคลให้ดีขึ้น ยังคงเป็นประเด็นหลักที่ต้องให้ความสำคัญ การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 และเพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ก่อนและหลังได้รับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบปัญหาเป็นฐาน เรื่อง การแปรผันโดยตรง กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนกันทรอมวิทยาคม อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 จำนวน 1 ห้องเรียน จำนวนนักเรียน 32 คน ได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sample) จากห้องเรียน 3 ห้องเรียน ซึ่งมีพื้นฐานความรู้ความสามารถใกล้เคียงกัน เครื่องมือที่ใช้ในวิจัยประกอบด้วย แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์แบบปัญหาเป็นฐาน เรื่อง การแปรผันโดยตรง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 3 แผน แผนละ 3 ชั่วโมง แบบทดสอบที่ใช้วัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง การแปรผันโดยตรงซึ่งประกอบด้วยแบบทดสอบปรนัย จำนวน 20 ข้อ และแบบสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้าง เพื่อสัมภาษณ์นักเรียนเมื่อสิ้นสุดการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยด้วยการทดสอบสมมติฐานโดยใช้สถิติ paired –t-test
ผลการวิจัย พบว่า ทักษะการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนกลุ่มตัวอย่างในระหว่างการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบปัญหาเป็นฐาน เรื่อง การแปรผันโดยตรง วิเคราะห์ผลจากใบกิจกรรมกลุ่มพบว่าการใช้กิจกรรมการเรียนรู้แบบปัญหาเป็นฐานและการนำผังความคิด (mind map) มาใช้เป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดความคิดซึ่งเป็นนามธรรมของนักเรียนให้แสดงออกมาอย่างเป็นรูปธรรมนั้น สามารถช่วยให้นักเรียนแสดงพฤติกรรมที่บ่งชี้ถึงคุณลักษณะของทักษะการคิดวิเคราะห์ทั้ง 4 ด้าน คือ ด้านการจำแนก ด้านการจัดหมวดหมู่ ด้านการเชื่อมโยง และด้านการสรุปความ ได้ระดับคะแนนอยู่ในระดับดี นอกจากนั้นยังมีนักเรียนบางกลุ่มที่แสดงคุณลักษณะด้านการจำแนกและการสรุปความได้อยู่ในระดับดีเยี่ยม
ทักษะการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนกลุ่มตัวอย่าง หลังเสร็จสิ้นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบปัญหาเป็น เรื่อง การแปรผันโดยตรง วิเคราะห์ผลจากแบบทดสอบวัดทักษะการคิดวิเคราะห์แบบอัตนัย จำนวน 3 ข้อ พบว่า นักเรียนส่วนใหญ่ระดับคะแนนเฉลี่ยของคุณลักษณะด้านการจำแนกอยู่ในระดับดี ระดับคะแนนเฉลี่ยของนักเรียนในคุณลักษณะการจัดหมวดหมู่ สำหรับแบบทดสอบ ข้อ 1 และข้อ 2 อยู่ในระดับกำลังพัฒนา แต่ข้อที่ 3 อยู่ในระดับปรับปรุง นักเรียนส่วนใหญ่ระดับคะแนนเฉลี่ยคุณลักษณะด้านการเชื่อมโยงอยู่ในระดับดี และระดับคะแนนเฉลี่ยคุณลักษณะด้านการสรุปความของนักเรียนส่วนใหญ่ อยู่ในระดับ ดี
ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ เรื่อง การแปรผันโดยตรงของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบปัญหาเป็นฐาน คะแนนหลังเรียนสูงกว่าก่อนการเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
ผลการสัมภาษณ์นักเรียนหลังเสร็จสิ้นการทดสอบหลังเรียน พบว่าขั้นตอนในการจัดกิจกรรม การเรียนรู้แบบปัญหาเป็นฐานและการเขียนผังความคิด (mind map) มีผลในการช่วยส่งเสริมและพัฒนานักเรียนให้เกิดทักษะการคิดวิเคราะห์ทั้ง 4 ด้าน คือ ด้านการจำแนก การจัดหมวดหมู่ ด้านการเชื่อมโยงและด้านการสรุปความ นอกจากนี้ยังพบว่ากิจกรรมดังกล่าวช่วยให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง และสามารถสนับสนุนให้เกิดทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มได้ดีอีกด้วย

Title Alternate The development of analytical thinking skills by using problem-based learning on variation
Fulltext: