นีโอโซมที่บรรจุสารสกัดตรีผลาเพื่อส่งเสริมการเจริญของเส้นผม

Titleนีโอโซมที่บรรจุสารสกัดตรีผลาเพื่อส่งเสริมการเจริญของเส้นผม
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2557
Authorsธนิสสา รามฤทธิ์
Degreeเภสัชศาสตรมหาบัณฑิต--สาขาวิชาเภสัชภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ
Institutionคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberRL ธ266 2557
Keywordsการเจริญของเส้นผม, ตรีผลา, ผม--การดูแลและสุขวิทยา, สารสกัดจากพืช
Abstract

ตรีผลาเป็นตำรับยาอายุรเวทที่ใช้รักษาอาการท้องผูก ภาวะดีซ่าน ภาวะโลหิตจาง หอบหืด อาการไข้ และแผลในกระเพาะอาหารเรื้อรัง ตรีผลาประกอบด้วนผลไม้ 3 ชนิด คือ สมอไทย สมอพิเภก และมะขามป้อม ในอัตราส่วนที่เท่ากัน โดยน้ำหนัก เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีรายงานการศึกษาว่า สารสกัดแต่ละชนิดสามารถยับยั้งเอนไซม์ 5-รีดักเทสได้ แต่ยังขาดข้อมูลสนับสนุนกลไกการออกฤทธิ์ของสารสกัดตรีผลาที่ช่วยหยุดการหลุดร่วงของเส้นผม งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากลไกการออกฤทธิ์ของสารสกัดตรีผลาในการยับยั้งการหลุดร่วงของเส้นผม พัฒนาตำรับนีโอโซมที่บรรจุสารสกัดตรีผลา และศึกษาฤทธิ์กระต้นการงอกของเส้นผมของสูตรตำรับนีโอโซม การเตรียมสารสกัด นำผลไม้ 3 ชนิด สกัดด้วยเอทานอล 95% ด้วยวิธีการหมัก จากนั้น วิเคราะห์สารสำคัญในสารสกัดตรีผลา และสารสกัดแต่ละชนิด โดยใช้กรดแกลลิกและกรดเอลลาจิกเป็นสารเครื่องหมาย การศึกษาเปรียบเทียบปริมาณสารประกอบฟีนอลิกโดยรวม ด้วยวิธี Folin-Ciocalteu และทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี ABTS+, DPPH และ FRAP ทดสอบกลไกของตรีผลในการยับยั้ง 5-รีดักเทส พัฒนาและศึกษาสภาวะที่เหมาะสมเพื่อเตรียมนีโอโซมด้วยวิธีตอบสนองพื้นผิว ศึกษาการปลดปล่อยและการซึมผ่านผิวหนังของสารเครื่องหมายจากระบบนำส่งนีโอโซมโดยการใช้ถุงไดอะไลซีส และวิธี Franz diffusion cell ตามลำดับ ทดสอบความคงตัวของตำรับที่ 4, 25 และ 45 องศาเซลเซียส 90 วัน ทดสอบฤทธิ์ในการกระตุ้นการงอกของเส้นขนในหนูถีบจักรสายพันธุ์ C57BL/6Mlac และทดสอบการระคายเคืองผิวหนังในกระต่ายขาวสายพันธุ์ New Zealand ผลการศึกษา พบว่า สารสกัดตรีผลามีปริมาณสารประกอบฟีนอลิกทั้งหมด เท่ากับ 888.02±29.52 มิลลิกรัม สมมูลแกลลิกต่อกรัมสารสกัด และ 692.13±23.00 มิลลิกรัมสมมูลเอลลาจิกต่อกรัมสารสกัด มีปริมาณสารกรดแกลลิกและกรดเอลลาจิก เท่ากับ 105.93±0.39 และ 8.06±0.03 มิลลิกรัมต่อกรัมสารสกัด สารสกัดตรีผลามีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระเท่ากับ 3.18.06±59 และ 484.27±12.98 มิลลิกรัมสมมูลวิตามินซีต่อกรัมสารสกัด และ 56.11±0.41 ไมโครโมลาร์เฟอริกไอออนต่อกรัมสารสกัด (ABTS+, DPPH และ FRAP) ตามลำดับ สารสกัดตรีผลาสามารถยับยั้งเอนไซม์ 5-รีดักเทส เท่ากับ 56.46±3.02 มิลลิกรัม สมมูลฟินาสเทอไรด์ต่อกรัมสารสกัดหยาบ สภาวะที่เหมาะสมในการเตรียมนีโอโซม คือ ปริมาณไขมันทั้งหมดเท่ากับ 50 มิลลิโมลาร์ ปริมาณคอเลสเตอรอลร้อยละ 10 ของไขมันรวม และปริมาณสารสกัดร้อยละ 0.10 ให้ขนาดอนุภาคนีโอโซมเท่ากับ 180.105±16.34 นาโนเมตร และร้อยละการกักเก็บสารฟีนอลิกทั้งหมดในสารสกัด เท่ากับ 46.43±4.20 ขนาดอนุภาคนีโอโซมไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ 4, 25 และ 45 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 90 วัน ร้อยละการกักเก็บกรดแกลลิกและเอลลาจิกเท่ากับ 44.16±0.03 และ 79.21±0.06 ตามลำดับ การศึกษาการปลดปล่อยกรดแกลลิกและเอลลาจิก พบว่า ที่เวลา 24 ชั่วโมง โดยนีโอโซมช่วยเพิ่มอัตราการปลดปล่อยกรดแกลลิกและเอลลาจิกจากระบบนำส่งนีโอโซมเมื่อเทียบกับสารละลาย กรดแกลลิกและเอลลาจิกสามารถซึมผ่านชั้นผิวหนัง เท่ากับ 218.64±0.31 และ 17.00±0.01 ไมโครกรัมต่อตารางเซนติเมตร ซึมผ่านชั้นสตราตัม คอร์เนียม เท่ากับ 0.39±0.11 และ 17.25±2.11 ไมโครกรัมต่อตารางเซนติเมตร และซึมผ่านชั้นหนังกำพร้าและหนังแท้เท่ากับ 0.29±0.13 และ 3.12±0.56 ไมโครกรัมต่อตารางเซนติเมตร ตามลำดับ สารสกัดตรีผลาที่กักเก็บในนีโอโซมความเข้มข้นร้อยละ 1, 2.5 และ 5 สามารถกระตุ้นการงอกของเส้นขนในหนูถีบจักร สายพันธุ์ C57BL/6Mlac โดยเพิ่มอัตราการงอกของเส้นขน ทำให้เส้นขนยาวเร็วกว่ากลุ่มที่ทดสอบด้วยไมนอกซิดิล และเมื่อศึกษาเนื้อเยื่อผิวหนังในหนูถีบจักร พบว่า สารสกัดตรีผลาที่กักเก็บในนีโอโซมความเข้มข้นร้อยละ 2.5 เพิ่มขนาดและจำนวนเซลล์รากขนได้มากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) และสารสกัดตรีผลาที่กักเก็บในนีโอโซมไม่พบการระคายเคืองผิวหนัง สรุปผลการศึกษาสูตรสำหรับนีโอโซมที่บรรจุสารสกัดตรีผลาสามารถกระตุ้นการงอกและลดการหลุดร่วงของเส้นผมด้วยกลไกการต้านอนุมูลอิสระและการยับยั้งเอนไซม์ 5α-รีดักเทส

Title Alternate Triphala extract loaded niosomes for hair growth promotion
Fulltext: