ความเป็นอิสระ ความเป็นกลาง และประสิทธิภาพของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ: การศึกษาเปรียบเทียบระหว่างกฎหมายนิติบัญญัติกับระเบียบภายในองค์กร

Titleความเป็นอิสระ ความเป็นกลาง และประสิทธิภาพของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ: การศึกษาเปรียบเทียบระหว่างกฎหมายนิติบัญญัติกับระเบียบภายในองค์กร
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2559
Authorsปิยะชนก สกุลอรุณเพชร
Degreeรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต--สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์
Institutionคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberJQ ป621 2559
Keywordsระเบียบปฏิบัติราชการ, สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
Abstract

การศึกษาความเป็นอิสระความเป็นกลางและประสิทธิภาพของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นการตรวจสอบเปรียบเทียบเนื้อหาของกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 เทียบกับกฎระเบียบในการทำงาน (บางฉบับ) ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งที่นำไปสู่การทบทวนกฎระเบียบ เนื่องจากกฎระเบียบที่ใช้ในปัจจุบัน (มีผลกระทบโดยตรงต่อการให้บริการประชาชน) ส่วนใหญ่ พบว่าเป็นกฎระเบียบที่ออกโดยหัวหน้าส่วนองค์กร ซึ่งมิใช่กฎหมายที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติ (สภาผู้แทนราษฎร)
งานวิจัยชิ้นนี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ ซึ่งเก็บรวมข้อมูลจาก 3 ส่วน คือ กฎระเบียบที่ใช้ในปัจจุบันของสำนักงาน ป.ป.ช. รัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ทั้งนี้ข้อมูลทั้ง 3 ส่วนที่รวบรวมมาจะใช้เพื่อวิเคราะห์เพื่อพิจารณาว่ากฎ ระเบียบที่ใช้ในปัจจุบันสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นที่มาขององค์กรหรือไม่ กรณีไม่สอดคล้องกันนั้นพบในประเด็นใดบ้าง
ผลการศึกษาพบว่า กฎ ระเบียบที่ใช้ในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญใน 3 ประเด็น คือ (1) ระบบการบริหารงานบุคคล พบว่า คณะกรรมการคัดเลือกและสรรหาบุคลากร สามารถใช้ดุลยพินิจในการแต่งตั้งบุคลากรในสายงานยุติธรรม และมีการกำหนดคุณวุฒิให้ตรงตามสายงานตามที่ต้องการ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอคติ หรือการสรรหาที่ไม่เป็นธรรม (2) การบริหารจัดการภายในองค์กร พบว่า การกำหนดตำแหน่งการทำงานตามสายงานต่าง ๆ มีลักษณะเป็นลำดับชั้นเหมือนระบบราชการทั่วไป และไม่ระบุขั้นตอนการปฏิบัติงานและระยะเวลาการให้บริการของแต่ละขั้นตอน และ (3) สำนักงาน ป.ป.ช. อาจมีส่วนได้เสียหรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนจากการจัดสรรงบประมาณประจำปี เนื่องจากสำนักงาน ป.ป.ช.ได้รับการจัดสรรงบประมาณประจำปีจากรัฐบาล และขณะเดียวกันต้องทำหน้าที่ตรวจสอบความโปร่งใสเกี่ยวกับกระบวนการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ยังพบว่าการบริหารงานภายในสำนักงาน ป.ป.ช. มีลักษณะเช่นเดียวกับการบริหารของส่วนราชการอื่น ๆ เช่น การได้รับงบประมาณประจำปีที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีการบริหารงานบุคคลที่เน้นความรู้ความสามารถตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 และระบบการบริหารแบบสายบังคับบัญชา ดังนั้น โดยสรุปแล้วสำนักงาน ป.ป.ช. คล้ายกับองค์กรของรัฐ ซึ่งไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ที่มีวัตถุประสงค์ให้สำนักงาน ป.ป.ช. เป็นองค์กรอิสระ และไม่อยู่ภายใต้การควบคุมจากฝ่ายบริหาร มีการบริหารจัดการด้านการเงินและการบริหารงานบุคคลที่เป็นอิสระเพื่อให้เกิดความเป็นกลางทางการเมือง

Title Alternate The independence, impartiality and efficiency of the office of the National Anti-Corruption Commission (NACC): a comparative study of the legislative laws and the internal organization regulations