การโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณระหว่างปีของหน่วยงานท้องถิ่นระดับตำบล

Titleการโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณระหว่างปีของหน่วยงานท้องถิ่นระดับตำบล
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2552
Authorsนพเมศฐ์ วุฒิศักดิ์สิริ
Degreeรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต--สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์
Institutionคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberHJ น181ก
Keywordsการคลัง, การคลังท้องถิ่น, งบประมาณ, ตำบล, หน่วยงานท้องถิ่น
Abstract

การศึกษาวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ คือ (1) เพื่อศึกษาลักษณะการโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณระหว่างปีของหน่วยงานท้องถิ่นระดับตำบล (2) เพื่อศึกษาถึงบทบาทและทิศทางการโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณระหว่างปีของหน่วยงานท้องถิ่นระดับตำบล และ (3) เพื่อศึกษาปัญหาและอุปสรรคอันเกิดจากการโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณระหว่างปีของหน่วยงานท้องถิ่นระดับตำบล โดยใช้รูปแบบการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative research) ใช้การสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth interview) กับผู้ให้ข้อมูลสำคัญที่รู้เรื่องราวเป็นอย่างดีหรือที่เรียกว่าผู้ให้ข่าว (Key informant) จำนวน 21 คน การวิเคราะห์ข้อมูลกระทำโดยการถ่ายทอดคำสัมภาษณ์เป็นตัวบท (Texts) ควบคุมกับการสังเกตการณ์และการใช้วิธีการสังเคราะห์จากกรณีศึกษาเป็นวิธีเสริม
สรุปผลการศึกษาได้ดังนี้
(1)ผลการศึกษาพบว่า ลักษณะการโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณระหว่างปีของหน่วยงานท้องถิ่นระดับตำบล มีผลประโยชน์แอบแฝง ขาดการตรวจสอบ ถ่วงดุล ส่วนใหญ่เป็นการโอนเปลี่ยนแปลงภายใต้อำนาจของผู้บริหารท้องถิ่น เป็นการโอนโดยมิได้ตั้งงบประมาณไว้ ทั้ง ๆ ที่บางกิจกรรม/โครงการสามารถตั้งงบประมาณประจำปีไว้ได้ หรือบางกิจกรรม/โครงการมีการตั้งไว้ก็จริง แต่เป็นการตั้งไว้เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้บริหารท้องถิ่นใช้อำนาจหน้าที่หรือดุลยพินิจในการโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณในแต่ละหมวด กิจกรรม/โครงการได้ในภายหลัง มีการหลีกเลี่ยงการโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณระหว่างปีที่ต้องผ่านสภาท้องถิ่นโดยกระทำการแยกย่อยกิจกรรม/โครงการเพื่อให้ตนใช้อำนาจทางบริหารได้
(2)ผู้บริหารท้องถิ่น เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจหรือใช้ดุลยพินิจในการโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณระหว่างปีภายใต้กรอบที่กฎหมายกำหนด โดยอ้างเหตุผลเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนและประโยชน์สุขของประชาชนเป็นหลัก การโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณระหว่างปีของหน่วยงานท้องถิ่นระดับตำบลเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากกว่ากิจกรรม/โครงการที่ตั้งงบประจำปีไว้ ส่วนใหญ่เกิดจากเงื่อนไขและ/หรือความต้องการของผู้บริหารท้องถิ่นเพื่อนำไปใช้ในกิจกรรม/โครงการที่สามารถทำให้ประชาชนเชื่อได้ว่าเป็นผลงานของตนที่เกิดขึ้นในขณะที่ดำรงตำแหน่งเพื่อแสวงหาผลประโยชน์หรือหวังผลทางการเมือง
(3)ทิศทางในการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยงานท้องถิ่นระดับตำบลนั้น มีแนวโน้มที่จะมีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุผลหลัก 2 ประการ คือ เพื่อจะสนองความต้องการของผู้บริหารในการใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เกิดความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น และประการที่สองเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในอันที่จะเข้าถึงการให้บริการของรัฐ ทิศทางดังกล่าวเป็นกลไกสำคัญเพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาท้องถิ่นตามเจตนารมณ์ของการกระจายอำนาจได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้ กระบวนการตรวจสอบภาคประชาสังคมจะต้องเข้มแข็งด้วย
(4)ปัญหาและอุปสรรคอันเกิดจากการโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณระหว่างปีของหน่วยงานท้องถิ่นระดับตำบล ส่วนใหญ่มาจากการใช้ดุลพินิจในการโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณของผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่งส่งผลต่อการใช้จ่ายงบประมาณที่ทำให้การบริหารงบประมาณไม่เป็นไปตามแผนงาน ทั้งส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการบริหารงบประมาณ ในหลายกรณีเช่นการจัดทำโครงการที่ไม่ได้อยู่ในแผนงาน อยู่ในข้อบัญญัติงบประมาณ ทำให้เกิดปัญหาว่าจะนำงบประมาณจากส่วนไหน หมวดใด ประมาณการงบประมาณที่ต้องการใช้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อโครงการที่ได้บัญญัติไว้หรือแผนงานที่กำหนดไว้ ทำให้บางโครงการดังกล่าวไม่สามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ เป็นต้น

Title Alternate Mid-year buget reallocations in Tambon (sub-district) administrative organizations