นโยบายวิทยุชุมชนในประเทศไทย

Titleนโยบายวิทยุชุมชนในประเทศไทย
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2552
Authorsศรีเมือง เจริญศิริ
Degreeรัฐประศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิต--สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์
Institutionคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberHN ศ237
Keywordsการสื่อสารชุมชน, นโยบายสาธารณะ, วิทยุชุมชน
Abstract

การศึกษาวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาวิจัยเรื่อง ?นโยบายวิทยุชุมชนในประเทศไทย? โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงเจตนารมณ์และการรับรู้นโยบาย กระบวนการนำนโยบายวิทยุชุมชนไปปฏิบัติในประเทศไทย และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการนำนโยบายดังกล่าวไปปฏิบัติ รวมทั้งข้อเสนอแนะในการปรับปรุงนโยบาย วิธีการศึกษากระทำโดยการศึกษาเอกสารและการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้เกี่ยวข้องในนโยบายวิทยุชุมชน 4 กลุ่ม ได้แก่ เจ้าหน้าที่ระดับนโยบาย 7 คน เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ 14 คน ผู้ประกอบการวิทยุชุมชน 35 คน และประชาชนผู้ฟังวิทยุชุมชน 35 คน รวมทั้งหมด 91 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ แบบสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth interview) ทำการรวบรวมข้อมูลกระทำระหว่างเดือนมีนาคม-สิงหาคม 2550 ใช้เลาประมาณ 6 เดือน การวิเคราะห์กระทำโดยการนำคำสัมภาษณ์ที่จดบันทึกไว้มาเรียบเรียงและจัดกลุ่มตามหลักตรรกะ
ผลการวิจัยสรุปได้ 7 ประเด็น ดังต่อไปนี้
(1)เจตนารมณ์ของนโยบายวิทยุชุมชนในประเทศไทยและการรับรู้ของผู้ที่เกี่ยวข้อง ผลการวิจัย พบว่า เจตนารมณ์ของนโยบายกับการรับรู้ของผู้ที่เกี่ยวข้องไม่แตกต่างกัน เว้นแต่เพียงประเด็นเดียวคือ ประชาชนผู้ฟังเน้นว่าการจัดตั้งสถานีวิทยุชุมชนต้องคำนึงถึงประโยชน์ของชุมชนตอบสนองความต้องการของชุมชนและช่วยเหลือชุมชนมากกว่ากลุ่มอื่น
(2) ข้อจำกัดของนโยบายวิทยุชุมชนในประเทศไทย จากผลการวิจัย พบว่า สิ่งที่เป็นข้อจำกัดของนโยบายวิทยุชุมชนในประเทศไทย ได้แก่ (1) ความไม่ชัดเจนของรัฐธรรมนูญ (2) การไม่มีกฎหมายรองรับ (3) ทัศนคติของหน่วยงานระดับบนต่อนโยบายวิทยุชุมชน และ (4) การฉวยโอกาสจัดตั้งวิทยุชมชนจำนวนมากของผู้ประกอบการ
(3) การปฏิบัติจริงในพื้นที่ ผลการวิจัยพบว่า สภาพที่เป็นอยู่ปัจจุบันผู้ประกอบการสถานีวิทยุชุมชนมีหลายกลุ่ม ได้แก่ นายทุนภาคเอกชน หน่วยงานภาครัฐ สมาคมมูลนิธิกลุ่มการเมือง และกลุ่มชุมชน ซึ่งต่างอ้างว่าตั้งเพื่อทำประโยชน์แก่ชุมชน แต่เมื่อศึกษาถึงความเป็นเจ้าของแล้ว พบว่า ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนายทุนและนักการเมืองเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นลักษณะรายการยังมีความหลากหลาย มีลักษณะกึ่งสมัครเล่น บางสถานีก็จัดรายการไม่ได้มาตรฐาน เช่น ไม่มีเนื้อหาสาระ รวมทั้งเกิดปัญหาคลื่นความถี่ทับซ้อนและการแข่งขันของวิทยุชุมชนในท้องถิ่นเป็นไปอย่างรุนแรง โดยเฉพาะการแย่งชิงสปอนเซอร์หรือผู้สนับสนุนรายการ สภาพที่เป็นจริงจึงเกิดการฉวยโอกาสแสวงหาผลประโยชน์จากวิทยุชุมชนมากกว่าการดำเนินการตามอุดมการณ์ ทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมาเป็นลูกโซ่ อาทิ การขาดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของประชาชนและชุมชนในการเป็นเจ้าของ กำหนดนโยบาย การผลิตรายการ การจัดรายการ ชุมชนส่วนใหญ่มีส่วนร่วมเพียงเป็นผู้รับฟังอย่างมากก็ให้คำติชม โทรศัพท์เข้าไปแสดงความเห็น โอกาสที่จะใช้วิทยุชุมชนเป็นเครื่องมือยกระดับความรู้และพัฒนาชุมชนจึงเป็นไปอย่างจำกัด นอกจากนั้นยังเกิดการเมืองในการนำนโยบายวิทยุชุมชนไปปฏิบัติ ได้แก่ การใช้ประโยชน์ทางการเมือง เช่น การหาเสียง หาความนิยม ขาดผู้รับผิดชอบในการควบคุมดูแล
(4) วิทยุชุมชนที่พึงประสงค์ ผลจากการวิจัย พบว่า วิทยุชุมชนที่พึงประสงค์ ได้แก่ (1) ต้องจัดตั้งโดยชุมชนเป็นประโยชน์ต่อชุมชนและให้ประชาชนมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน (2) ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ (3) มีรูปแบบรายการสอดคล้องกับความต้องการของชุมชน (4) ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง (5) นักจัดรายการต้องมีคุณภาพ และ (6) ดำเนินการโดยไม่แสวงหากำไร
(5) วิทยุชุมชนที่ไม่พึงประสงค์ ได้แก่ (1) ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ (2) ไม่ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ (3) คลื่นความถี่ทับซ้อน (4) มีผลประโยชน์ส่วนตัว (5) ใช้วิทยุชุมชนเป็นเครื่องมือทางการเมือง (6) จัดรายการไม่ได้มาตรฐาน และ (7) จัดรายการไม่ได้มาตรฐาน
(6) ผลลัพธ์ของการนำนโยบายวิทยุชุมชนไปปฏิบัติในประเทศไทย ผลการวิจัย พบว่า วิทยุชุมชนในปัจจุบันมีผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบ ผลกระทบเชิงบวก ได้แก่ (1) การให้ความรู้แก่ประชาชน (2) การรับรู้ข้อมูลที่หลากหลาย (3) การมีส่วนร่วมของประชาชน และ (4) การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของประชาชน ผลกระทบเชิงบวกที่มากที่สุด ได้แก่ การให้ความรู้และข้อมูล ส่วนการมีส่วนร่วมและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมยังมีไม่มาก สำหรับผลกระทบเชิงลบ ได้แก่ (1) ผลกระทบต่อสถานีวิทยุหลัก ทำให้เกิดการแข่งขันหรือคลื่นวิทยุ ทับซ้อนกันกับวิทยุหลัก (2) ผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ (3) ผลกระทบต่อสัญญาณวิทยุการบิน และ (4) ผลกระทบต่อวิทยุชุมชนด้วยกันในแง่การแข่งขันและคลื่นทับซ้อนกัน
(7) คำแนะนำในการปรับปรุงการนำนโยบายวิทยุชุมชนไปปฏิบัติในประเทศไทย ผลการวิจัย พบว่า กลุ่มตัวอย่างได้ให้คำแนะนำไว้ 3 ประการ ได้แก่ (1) จัดตั้งองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญทำหน้าที่ควบคุมการกระจายเสียงวิทยุ ซึ่งหมายถึงการจัดตั่งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ หรือ กสช. (2) จัดระเบียบวิทยุชุมชน และ (3) พัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับวิทยุชุมชน ทั้งระดับผู้บริหารสถานีและผู้จัดรายการ
ผู้วิจัยให้ข้อเสนอแนะว่า การมีคณะกรรมการกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียงชุมชน หรือ กสช. จะช่วยแก้ปัญหาทางเทคนิค เช่น ปัญหาการแข่งขัย คลื่นทับซ้อน ปัญหาความมั่นคง การรบกวนสัญญาณวิทยุการบิน นอกจากนั้น ควรเข้าไปควบคุมความเป็นเจ้าของเพื่อให้วิทยุชุมชนเป็นของชุมชนอย่างแท้จริง อีกทั้งควรปลูกฝังอุดมการณ์วิทยุชุมชน สร้างเอกลักษณ์ให้กับวิทยุชุมชน ควรสร้างความเข้าใจแนวคิดวิทยุชุมชนที่ถูกต้องกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง จัดอบรมและหาทางพัฒนาหลักสูตรวิทยุชุมชนอย่างจริงจังต่อไป

Title Alternate Policy for community radio in Thailand